เจลลี่สับปะรดไคโตซาน: สับปะรดภูเก็ต x ไคโตซานจากเปลือกกุ้งมังกร ส่วนผสมที่ลงตัว

In collaboration with มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (PKRU)

นอกจากท้องทะเลที่สวยงาม เกาะภูเก็ตยังมีผลิตภัณฑ์ประจำถิ่นที่โดดเด่น อย่างเช่น สับปะรดภูเก็ต (Phuket Pineapple) และ กุ้งมังกร 7 สี (Phuket Lobster) ที่ได้รับความนิยมและหาทานได้เฉพาะในพื้นที่เท่านั้น 


และเมื่อนำทั้งสองมาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของ “เจลลี่สับปะรดไคโตซาน” เครื่องดื่มทานง่าย พร้อมให้รสเปรี้ยวอมหวานของสับปะรด เพิ่มความรู้สึกสดชื่นของไคโตซาน สามารถแก้กระหายคลายร้อนได้ดีกับอากาศของภูเก็ตทุกวันนี้ 


เจลลี่สับปะรดภูเก็ตกับวิถีน่านน้ำสีคราม Blue Ocean


สับปะรดภูเก็ต หรือ ภาษาพื้นถิ่นเรียกว่า อ่องหลาย ผลไม้ “หอม หวาน กรอบและแกนกลางสามารถรับประทานได้” ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาตร์ (GI) ซึ่งบ่งบอกถึงคุณลักษณะพิเศษ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากฤดูกาลผลไม้ ทำให้เกิดปัญหาสับปะรดล้นตลาด ดังนั้น คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จึงได้ทำการศึกษาตลาดและตัดสินใจพัฒนาการแปรรูปสับปะรดเพื่อช่วยชุมชนในการแก้ปัญหานี้ จนกลายเป็น “เจลลี่สับปะรดภูเก็ต” แทนการทำผลไม้กวนหรือผลไม้แห้งที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว


ไคโตซานจากเปลือกกุ้งมังกร จุดประกายจากงาน Phuket Lobster Festival


การเข้าร่วมงานเทศกาล Phuket Lobster Festival เป็นจุดผลักดันให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยที่โด่งดังของนักเคมีชาวญี่ปุ่น ดร.ชิกิฮิโร่ ฮิราโน่ (Prof. Shigehiro Hirano) จากมหาวิทยาลัยโตเกียว เกี่ยวกับสารไคโตซาน (Chitosan) ที่พบได้ในเปลือกกุ้ง โดยเฉพาะเปลือกกุ้งมังกร โดยการเพิ่มคุณค่าเข้าไปในเจลลี่สับปะรด เพราะประโยชน์ของสารไคโตซาน คือ ช่วยต่อต้านจุลินทรีย์และเชื้อราบางชนิด ต่อต้านมะเร็ง  ช่วยลดสารพิษและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย และช่วยลดคอเลสเตอรอสและไขมันในเส้นเลือด 


“เจลลี่สับปะรดไคโตซาน” เป็นการดึงรสชาติเปรี้ยวอมหวานของสับปะรด ซึ่งเป็นผลไม้ที่ทุกคนต่างรู้จักกันดี แล้วเพิ่มความแปลกใหม่อย่างไคโตซานเข้าไป ทำให้กลายเป็นสินค้าที่น่าสนใจและโดดเด่นขึ้นมา แต่ก็ยังสามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกเพศทุกวัยและสามารถทานได้ทุกวัน เนื่องด้วยราคาที่ไม่สูง จึงทำให้เป็นทางเลือกของหลายๆ คนอีกด้วย 


นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่สามารถดึงอัตลักษณ์ภูเก็ตออกมา แล้วยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และช่วยให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้นอย่างยั่งยืน  


“อยากให้เจลลี่สับปะรดไคโตซานเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดการทำงานแบบบูรณาการในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงชุมชนให้ทุกคนเป็น ‘วิศวกรสังคม’ ที่จะช่วยพัฒนาระบบ สร้างมูลค่า และความยังยืนให้จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป”  ผศ.ดร. ดวงรัตน์ โกยกิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและการวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เจลลี่สับปะรดชิ้นนี้

Exploring the Latest in Our Blog

Related Insights

Check out other insights