หลังจากประตูนรกได้เปิดออกเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 นับเป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาลพ้อต่อ เหล่าวิญญาณได้เดินทางมายังโลกมนุษย์เป็นเวลาหนึ่งเดือน ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมพฤติกรรมของภูตผีเหล่านั้นและป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นบนโลกมนุษย์ จึงทำให้ต้องมีผู้ดูแลในช่วงเทศกาล นั่นก็คือ องค์เทพ "พ้อต่อกง"
"พ้อต่อกง (普渡公)" มีกายสีน้ำเงิน ใส่ชุดเกราะแบบจีน หน้าตาดุร้าย ตาโปน มือซ้ายถือธงป้ายอามิตาพุทธสำหรับนำวิญญาณ ในเทศกาลพ้อต่อ (中元普渡) หรือ เทศกาลหยูหลาน (盂兰胜会) พ้อต่อกงถือเป็นองค์ประธานใหญ่ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆในฐานะผู้ควบคุม และหากวิญญาณตนไหนประพฤติผิด ท่านจะจับกินเป็นอาหาร
ตามความเชื่อโบราณ “พ้อต่อกง” คือภาคหนึ่งของพระโพธิสัตว์กวนอิม มีอีกชื่อเรียกว่า "กวนอิมไต่สือ (觀音大士)” ที่อวตารลงมาโปรดสัตว์ในขุมนรก คำว่า “พ้อต่อ (普渡)” มีความหมายว่า โปรดสัตว์ ส่วนคำว่า “กง (公)” ใช้ในสำหรับเรียกเทพเจ้าจีนที่เคารพบูชา
บางตำนานเชื่อว่า พ้อต่อกง คือ "ไต่สือเอี๋ยกง (大士爺公)” หรือเปรียบได้กับ “พญายมราช” ในความเชื่อทางศาสนาพุทธ โดยท่านเป็นพญามารที่ดุร้ายและก่อความวุ่นวายไปทั่ว หลังจากพระโพธิสัตว์กวนอิมมาโปรดให้กลับใจสำเร็จ บนศีรษะของเทพไต่สือเอี๋ยกงจึงมีรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมประทับอยู่
ในช่วงเดือนเทศกาลนี้ จะมีกิจกรรมเบิกเนตรเทพเจ้าพ้อต่อกงของแต่ละสถานที่ทั่วเมืองภูเก็ต เริ่มเวลาเช้าตี 5 ของวันและส่งท่านกลับทางทะเลในเวลา 5 ทุ่มของคืนวันเดียวกัน โดยจัดพิธีตามปฏิทินจีนในวันที่ต่างกัน