นอกจากพ้อต่อกงจะเป็นประธานในพิธีกรรมสำคัญของเทศกาลพ้อต่อแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความสำคัญของเทศกาลนี้ นั่นก็คือ "เต่า" เพราะเมื่อถึงเวลาเทศกาลมักจะเต็มไปด้วยขนมเต่าน้อยใหญ่วางเรียงรายไปทั่วบริเวณสถานที่ที่จัดงาน
"เต่า" เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อโบราณของจีน เมื่อครั้งที่พระถังซัมจั๋งเดินทางโดยเรือสำเภาและเกิดพายุใหญ่ทำให้เรืออับปาง แต่มีเต่ายักษ์มาช่วยเป็นพาหนะให้เดินทางได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น ชาวจีนจึงยกย่องเต่าว่าเป็น “สัตว์พาหนะสวรรค์” นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนที่เชื่อว่า “เต่าเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างภพภูมิ” ดั่งที่ปรากฎในจารึกอักษรบนกระดองเต่าในพิธีกรรม “เจียกู่เหวิน (甲骨文)” หรือ การขอคำพยากรณ์จากเทพเจ้า
ส่วนไทยก็มีความเชื่อว่าเต่าเป็น “สัตว์มงคล” สัญลักษณ์ของการมีอายุยืน และมีความเชื่อว่าการปล่อยเต่าจะสามารถคลายความโศกเศร้าเจ็บป่วยได้ ต่อมาชาวภูเก็ตจึงได้มีการทำขนมเต่าสีแดงขึ้น เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นการเพิ่มสีสันให้สดใสน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น
"ขนมอังกู๊ (紅龜粿)" ขนมรูปเต่าสีแดง ทำด้วยแป้งข้าวเหนียวมีไส้ถั่วเขียวกวน ส่วนขนมเต่าขนาดใหญ่เรียกว่า "ตั่วกู๊ (大龜)" เป็นขนมเต่าที่ไม่มีไส้ ทำจากแป้งสาลีผสมกับน้ำตาล และนิยมเขียนชื่อและคำอธิษฐานไว้บนกระดองเต่า
ในช่วงเทศกาลพ้อต่อ ผู้คนต่างนำขนมเต่ามายังสถานที่จัดงาน เพื่อเป็นสิริมงคลและขอให้สิ่งที่ไม่ดีได้ออกไปกับเต่า ซึ่งเปรียบได้กับการปล่อยเต่านั่นเอง
การไหว้เต่า ยังเป็นอีกหนึ่งประเพณีอันงดงามที่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว นอกจากเป็นสื่อกลางนำพาทุกคนให้มาพบกัน ยังเป็นการแสดงถึงความกตัญญูที่มีต่อบรรพรุษที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย