หนึ่งในร้านอาหารพื้นเมืองที่ต้องแวะทุกครั้งที่มาเที่ยวกระบี่ คือ “ร้านน้องโจ๊ก” แต่กว่าจะมาเป็นร้านน้องโจ๊กอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ น้อยคนนักจะรู้ถึงเบื้องหลังที่ยากลำบากของครอบครัว “รอดทอง” และประวัติส่วนตัวของ “โกโจ๊ก” คุณศุภชัย รอดทอง เจ้าของร้านน้องโจ๊กนั่นเอง
ครอบครัว “รอดทอง” เดิมเป็นคนจังหวัดตรังที่ย้ายมากระบี่กว่า 50 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นจากอาชีพขายหมูเขียงอยู่ที่ตลาดสดเจ้าฟ้า แต่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นทำให้ต้องเริ่มต้นอาชีพใหม่กับการขายข้าวแกง ข้าวต้มกุ๊ย และปาท่องโก๋ ที่เป็นหน้าที่หลักของ โกโจ๊กในตอนนั้น มีหน้าที่ซื้อปาท่องโก๋มาขายตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน
ด้วยเศรษฐกิจจังหวัดกระบี่เริ่มเติบโตกับสวนปาล์มน้ำมันและยางพารา ทำให้ร้านอาหารน้องโจ๊กเติมโตตามไปด้วย ควบคู่ไปการทำอาหารเย็นตามสั่ง โดยใช้วัตถุดิบสดจากแพปลาในละแวกนั้น แต่หลังจากนั้นเพียง 2 ปี ก็ต้องย้ายไปยังคลองหินเพราะตลาดล่างมีการเวนคืนที่ดิน
“ที่บ้านไม่มีตัง ตอนแรกต้องยื้มเก้าอี้มือสองมาก่อน แล้วค่อยๆ ผ่อนจ่าย หลังเก็บร้านลูกน้องยังต้องปูเสื่อนอนพื้น แต่โชคดีที่แถวนั้นเป็นสำนักงานราชการ จึงทำให้ร้านอาหารเติบโตเริ่มขายดีขึ้นค่อยๆ โตพร้อมกับพัฒนาการของจังหวัด” โกโจ๊กเล่าเหตุการณ์ร้านเมื่อปี พ.ศ.2534
โกโจ๊กได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงไม่ได้สนใจร้านอาหารอีกเลย เพราะมีความรู้สึกฝังใจว่าพ่อแม่ทำงานจนไม่มีเวลาให้ลูก แต่หลังจากเรียนจบกลับต้องมาคุมไซต์งานที่กระบี่บ้านเกิดอีกครั้ง จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต
ในช่วงที่คุมไซต์งานที่กระบี่ โกโจ๊กก็มักจะแวะมาช่วยงานที่ร้านหลังเลิกงาน จนวันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่ถามว่าอยากรับช่วงต่อไหม ไม่เช่นนั้นก็คิดว่าจะปิดร้าน ทำให้โกโจ๊กรู้สึกเสียดายในชื่อเสียงและตำนานของร้าน จึงตัดสินใจรับช่วงต่อและฝึกงานครัวกับคุณแม่อยู่ 3 ปี หลังจากนั้นก็ปรับปรุงร้านให้ขยายใหญ่ขึ้นและทันสมัยมากยิ่งขึ้น
“ร้านน้องโจ๊กขึ้นชื่อเรื่องการทำอาหารที่โคตรช้า แต่อร่อยมาก” คำนิยามของร้านน้องโจ๊กจากคุณพลอย พรรณจิรา เอ่งฉ้วน ในฐานะลูกค้าประจำ แต่เมื่อคุณพลอยได้เลื่อนสถานะมาเป็นแฟนและภรรยา ก็ได้เข้ามาช่วยพัฒนาระบบและต่อยอดการตลาดของร้าน “วันนี้เรามาหาตัวตน ความเป็นน้องโจ๊กกันเถอะ”
“ต้นดีปลายดี” คือ ความหมายแรกของร้านน้องโจ๊ก เพราะตลอดระยะเวลาที่เปิดร้านมา ทางร้านได้คัดสรรเฉพาะวัตถุดิบที่ดีและมีคุณภาพเสมอ รวมถึงการอุดหนุนชาวบ้านในชุมชนและแพปลาในละแวกนั้น
เมนูทุกจานของร้านน้องโจ๊ก มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นอาหารพื้นเมืองตามต้นตำรับอย่างแน่นอน ส่วนจานพิเศษ ต้องเป็น “แกงส้มขาหมู” พริกแกงส้มภาคใต้ฉบับน้องโจ๊กกับขาหมู และเมนูหมูสามชั้นโบราณคล้ายเคาหยกที่ได้รับสูตรพิเศษมาจากตรัง ถิ่นกำเนิดของครอบครัว ก่อนจะแพคส่งขายทั่วประเทศ
สุดท้ายแล้วจะเห็นว่าธุรกิจของร้านน้องโจ๊กโตขึ้นไปพร้อมกับเศรษฐกิจเมือง ซึ่งทางโกโจ๊กเองก็มีความตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ร่วมกับ ร้านอาหารดั้งเดิมในจังหวัดกระบี่อย่าง “ร้านโกตุง” “ร้านเรือนไม้” “ร้านโกส้วง” ที่จัดตั้งสมาคมร้านอาหารจังหวัดกระบี่และรับบทอุปนายกสมาคม เพื่อผลักดันและเป็นตัวอย่างให้กับร้านอาหารอื่นๆ ในจังหวัด
โกโจ๊กยังมีพลังและการเรียนรู้อีกมากที่เราไม่อาจเขียนหมด ในบทความเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่สะดุดหูและอยากฝากข้อคิดนี้ไปถึงผู้อ่าน คือการไม่หยุดพัฒนาและเรียนรู้ “คนเราถ้าค้นหาอะไร เราก็จะเจอ”
The Signature ขอให้ทุกคนเจอในสิ่งที่ค้นหาและพัฒนาตัวเองต่อไปในทุกๆ วัน