ชาสมุนไพรส้มควาย

ส้มควาย จากพืชพื้นบ้าน ต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP โดยยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นในรูปแบบใหม่ที่มาจากธรรมชาติอย่างแท้จริง ซึ่งหากใครที่มาเยือนกมลาแล้วไม่ได้ลิ้มลองรสชาติถือว่าพลาด

เรื่อง ชลลดา สิทธิมนต์

“ส้มควาย” ถือเป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยมชนิดหนึ่ง มีผลขนาดใหญ่ ซึ่งผลส้มควายจะเป็นผลสีเขียวลูกใหญ่ มีรสเปรี้ยว มีคุณสมบัติช่วยระบาย ลดไขมัน ซึ่งพบมากใน หมู่ 5 ตำบลกมลา อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ในอดีตนั้น ชาวบ้านจะนำผลส้มควายมาฝานเป็นแผ่นบาง ๆ นำไปตากแห้งเพื่อไปเก็บไว้ใช้ประกอบอาหารในครัวเรือนเท่านั้น ทางกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนาเล็งเห็นประโยชน์จึงนำมาแปรรูปสร้างรายได้ให้กับชุมชน และได้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น


ผลไม้พื้นบ้านสู่สินค้าสร้างรายได้ให้กับชุมชน

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา ได้ตระหนักถึงคุณค่าของ “ ส้มควาย ” พืชท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต จึงนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยใช้ผลส้มควายสดๆ นำมาแปรรูปที่มีความอร่อยและมีประโยชน์ เช่น น้ำสมุนไพรส้มควาย ส้มควายแช่อิ่ม ลูกอมส้มควาย เพื่อให้ถูกใจกับนักท่องเที่ยวและยังเสริมสร้างการอนุรักษ์ต้นส้มควายอีกด้วย 

อาจารย์เบญจพร พงษ์นริศร อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรบางหวานพัฒนา หมู่ 5 ตำบลกมลา อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับทางกลุ่มแม่บ้านว่ามีความต้องการอยากจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบไหน ทางแม่บ้านจะมีผลิตภัณฑ์ส้มควายตากแห้ง แช่อิ่ม กวน ลูกอมจากส้มควายอยู่แล้ว แต่ก็ยังติดปัญหาที่ผลิตภัณฑ์ยังไม่ติดตลาดทำยังไงถึงจะให้ส้มควายเป็นที่นิยม อาจารย์เลยนำส้มควายมาลองคิดค้นเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มหรืออาหารที่ทานง่าย ซึ่งจะทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร “ ชาส้มควาย ” ในรสชาติ หรือ สีที่ไม่เหมือนใคร

จากการที่อาจารย์ได้ลงพื้นที่ ทำให้พบกับอุปสรรคในการเข้าไปพัฒนา เรื่องขนาดกล่องที่ใส่ผลิตภัณฑ์ซึ่งมีขนาดใหญ่เกินไปในการที่จะใส่เข้าไปในกระเป๋าเดินทางของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ อีกหนึ่งปัญหาคือ ชาจะมีความชื้นอยู่ในตัวทำให้มีความชื้นเก็บรักษาได้ไม่นาน มีการอุ้มน้ำอยู่ในตัวถุงชา ซึ่งนักวิชาการจากมหาลัยราชภัฏภูเก็ตก็ได้เข้าไปช่วยพัฒนาในส่วนนี้


ผลิตภัณฑ์ส้มควายแปรรูป

ส้มควายเป็นผลไม้ลูกใหญ่ที่มีรสชาติเปรี้ยว มีประโยชน์มากมาย เช่น นำมาประกอบอาหาร ซึ่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตและกลุ่มแม่บ้านได้เล็งเห็นตรงนี้ จึงได้พัฒนาสูตรชาสมุนไพรส้มควายที่ไม่ได้เป็นแค่ส้มควายตากแห้ง พัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้กับกลุ่มนักท่องท่องได้ลองชิม เป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน

เริ่มแรกคือการพัฒนาสูตรชาส้มควาย โดยจะมีหลาย ๆ สูตรให้ผู้บริโภคได้ลองชิมก่อน โดยการทดสอบการประเมินทางประสาทสัมผัส มีการทดสอบชาส้มควายประมาณ 5 ชนิด เพื่อที่จะดูว่าผู้บริโภคยอมรับสูตรไหนมากที่สุด 

เมื่อได้สูตรที่ลงตัวแล้วขั้นตอนต่อไปคือการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การผลิตและการเก็บรักษาว่าทำยังไงถึงจะเก็บได้นาน ซึ่งทางชุมชนก็จะมีตู้อบลมร้อนและมีวัตถุดิบค่อนข้างเยอะ จึงนำมาอบแห้งและเอาตัวสมุนไพรอื่น ๆ มาเป็นส่วนผสมในการทำชาส้มควายรสชาติต่าง ๆ 

จากนั้นผลิตภัณฑ์นำไปให้ทางผู้ประกอบการชิมและดูว่าสูตรไหนดีที่สุด เพื่อค้นหาสูตรที่ดีที่สุด และทำการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ แล้วส่งต่อให้อาจารย์สาขาวิชาการตลาดมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตช่วยโฆษณาสินค้าต่อไป


ส้มควายผลไม้มีประโยชน์เหมาะกับกลุ่มรักสุขภาพ

ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต เขาจะมาพักผ่อน เลยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นชาที่สามารถดื่มได้ง่าย ซึ่งข้อดีของผลิตภัณฑ์ตัวนี้สามารถชงร้อนแล้วสามารถชงแบบเย็นได้ด้วย ซึ่งในตลาดทั่วไป จะมีเป็น Bubble Tea ชานมไข่มุก กาแฟ ซึ่งมีคาเฟอีนสูงซึ่งตอบโจทย์การมาพักผ่อนไม่ได้มากนัก แต่ชาสมุนไพรส้มควายไม่ได้มีคาเฟอีนและเป็นสมุนไพรที่ช่วยล้างพิษเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยให้ผู้บริโภคที่มีความสนใจรักสุขภาพหันมาสนใจที่จะซื้อมากขึ้น     

ชาส้มควายนี้มีความโดดเด่นจากชาอื่น ๆ คือ มีส่วนผสมของดอกอัญชันและมีรสเปรี้ยวจากส้มควายเพื่อให้ได้รสชาติที่ลงตัวและเมื่อผสมกับอัญชันทำให้รสชาติไม่เปรี้ยวจนเกินไป ซึ่งในส้มควายมีกรด AHA เป็นกรดระบายอ่อนๆ หากดื่มตอนเช้าก็จะช่วยในการขับถ่ายได้ดี

กลุ่มลูกค้า ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มรักสุขภาพที่ต้องการดื่มเพื่อจะล้างพิษช่วยระบาย หรือผู้บริโภคที่ต้องการลดน้ำหนัก ซึ่งตัวส้มควายจะมีการดูดซึมของน้ำตาลและไขมัน ดังนั้นกลุ่มที่รักสุขภาพก็จะให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ตัวนี้เป็นอย่างมาก


ผลตอบรับ และการต่อยอดในอนาคต

ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการตอบรับค่อนข้างดี เพราะชาสมุนไพรมีสีโดดเด่นคือมีสีม่วงมาจากดอกอัญชัน ซึ่งได้พัฒนาสูตรขึ้นมาทำให้ดื่มง่าย มีรสเปรี้ยวเล็กน้อยมีรสชาติที่แตกต่างจากชาทั่วไปที่มีอยู่ในท้องตลาด ทำให้ผู้บริโภคอยากลิ้มลองรสชาติมากขึ้นยิ่งขึ้น  

ทางชุมชนได้มีการจัดจำหน่ายสินค้าทางช่องทาง Shopee และ Lazada ต่อไปจะมีการเพิ่มเติมสูตร เช่น อาจจะมีการนำส้มควายไปต่อยอดผสมกับกระเจี๊ยบ ใบเตยเข้ามาเพื่อเพิ่มรสชาติที่แปลกใหม่ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อให้ได้สินค้าที่หลากหลายและทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากยิ่งขึ้น สามารถเข้าไปดูใน Facebook ของกลุ่มชาวบ้านได้ หรือที่ข้างกล่องจะมี OQ Code หรือ หมายเลขโทรศัพท์หัวหน้ากลุ่ม สามารถสั่งซื้อมาชิมได้ ซึ่งสินค้านี้ได้ผ่าน อย. ทำให้มั่นใจได้ว่าชาวบ้านได้พิถีพิถันในการทำผลิตภัณฑ์ตัวนี้เป็นอย่างมาก


สรุป 

ส้มควายเป็นไม้ที่นิยมปลูกถิ่นทางภาคใต้มาแต่โบราณ เพื่อเก็บผลสดหรือแห้งปรุงเป็นอาหารมี รสชาติเปรี้ยว คนส่วนใหญ่จะนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงส้ม และไม่ค่อยคำนึงว่าจะนำไปต่อยอดได้ มากมายนัก แต่ใครจะคิดว่าส้มควายสามารถสร้างประโยชน์และมีสรรพคุณเยอะแยะมากมาย สามารถต่อ ยอดเพื่อแปรรูปผลผลิตส้มควายเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ที่มีความอร่อย สด สะอาด ปลอดภัยต่อ ผู้บริโภค นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังสื่อถึงการตระหนักถึงคุณค่าของพืชท้องถิ่นที่ อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวภูเก็ต และยังส่งเสริมการอนุรักษ์ต้นส้มควายให้คงอยู่สืบไปจนเป็นสินค้า OTOP  ประจำชุมชนกมลาได้ 

Exploring the Latest in Our Blog

Related Insights

Check out other insights