เวชสำอางจากสับปะรดภูเก็ต

คุยกับนักพัฒนาและเกษตรกรสับปะรดภูเก็ต แปรรูปผลไม้เป็นเวชสำอาง ยกระดับผลไม้พื้นเมืองสร้างรายได้ให้ชุมชน

เรื่อง : ดวงพร ภาคถิน ภาพ : กรวีร์ มลิวรรณ

สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

“สับปะรด”  หนึ่งในผลไม้ที่ผู้คนนิยมรับประทาน ด้วยรสชาติที่อร่อย หวาน กรุบกรอบและมีกลิ่นที่หอม ชวนรับประทาน ไม่ว่าใครที่ได้ลิ้มลองก็ติดใจเกือบทุกราย

“จังหวัดภูเก็ต”  นับว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องของ  “สับปะรดภูเก็ต”  เป็นที่กล่าวขานในเรื่องของรสชาติ อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและยังเป็นผลไม้ของดีประจำถิ่นที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย เคล็ดลับการปลูกสับปะรดแสนอร่อยหอมหวาน น่าทานแบบนี้เป็นอย่างไร เรามาถามคุณ  “วิชัย แซ่ตัน”  กันดีกว่า ว่าเขามีเคล็ดลับยังไงที่ทำให้สับปะรดมีรสชาติอร่อยถูกปากแบบนี้ จนถูกยกให้เป็นผลไม้พื้นเมืองประจำจังหวัดภูเก็ต และยังได้นำไปแปรรูปเป็นเวชสำอางได้อีกด้วย

จุดเริ่มต้น

“คุณวิชัย แซ่ตัน”  ประธานวิสาหกิจชุมชนสับปะรดภูเก็ต ได้เริ่มปลูกต้นสับปะรดโดยมีแรงบันดาลใจมาจากความต้องการสร้างฐานะ มีรายได้ที่ดีและสามารถส่งลูกเรียนจนจบทุกคน จึงเลือกที่จะมาปลูกสับปะรดภูเก็ต เพราะเป็นผลไม้ประจำจังหวัดที่มีชื่อเสียง 

“ตัวผมเองเมื่อก่อนสุขภาพไม่ค่อยดี แล้วก็สนใจที่จะมาทำไร่เกี่ยวกับสับปะรด เพื่อจะให้สุขภาพแข็งแรง เมื่อได้มาทำแล้วก็พบว่าสุขภาพค่อยๆ ดีขึ้นครับ”  คุณวิชัยเล่าให้ฟังด้วยใบหน้าที่สดใส ท่ามกลางบรรยากาศในกระท่อมกลางสวนสับปะรดที่เงียบสงบ มีเพียงเสียงสายฝนที่โปรยลงมาบาง ๆ  


สับปะรดภูเก็ต

สับปะรดภูเก็ตนอกจากจะมีความอร่อยแล้วอุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย ทั้งวิตามินซี วิตามินอี แล้วก็มีสารเบตาแคโรทีนที่ช่วยป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง มีเอนไซม์ที่สามารถช่วยย่อยอาหารที่เรากินเข้าไปได้อีกด้วย โดยตัวสารต้านอนุมูลอิสระและตัวเอนไซม์จะเป็นสารตัวหลักที่ถูกเลือกนำมาใช้ในการทำเวชสำอาง จะเห็นได้ว่าสับปะรดภูเก็ตมีประโยชน์มากขนาดนี้ รสชาติก็ดี แน่นอนว่าจะต้องมีวิธีการดูแลที่พิเศษ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมเพาะปลูกจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว


ความร่วมมือ

การที่จะทำให้ตัวผลิตผลมีมูลค่ามากขึ้น ก็ต้องมีหน่วยงานที่ยื่นมือเข้ามาช่วย ในส่วนของการพัฒนาตัวสับปะรดภูเก็ตให้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่นี่เองก็ได้ทางจังหวัดภูเก็ตเข้ามาให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสับปะรดภูเก็ตร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ตจำกัด และสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตที่ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องของการแปรรูป เพื่อที่จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของตัวสับปะรดภูเก็ต ด้วยการแปรรูปเป็นไปในรูปแบบของเวชสำอางต่างๆ 

มองให้ลึกลงไป

การจะยกระดับผลิตภัณฑ์หนึ่งขึ้นมาได้สักอย่างก็ต้องอาศัยนักพัฒนา หรือ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เช่นเดียวกับ  “ดร.อับดุลวาหาบ สาแล๊ะ” หนึ่งในอาจารย์นักพัฒนา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ เอกเคมี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้ให้ความสำคัญกับการต่อยอดผลไม้พื้นเมืองอย่างสับปะรดภูเก็ตไว้ว่า 

“เราจะเอาสับปะรดภูเก็ตตัวนี้มาทำอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากกินแล้ว ก็ยังสามารถที่จะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพราะว่าเครื่องสำอางอย่างที่ทราบกันในปัจจุบันมีเยอะแยะมากมาย แต่ถ้าเป็นเครื่องสำอางที่ส่วนผสมของ Natural product ก็เป็นอะไรที่คนให้ความสนใจ นั่นคือแรงบันดาลใจของอาจารย์”  

ในขณะที่สัมภาษณ์ ณ ใต้ตึกคณะวิทยาการจัดการ แม้ท้องฟ้าจะไม่แจ่มใส เสียงลมและฝนแทรกตลอดการสัมภาษณ์ พร้อมด้วยเสียงผู้คนรอบข้างที่เดินเข้าออกตึกไปมา แต่ดร.อับดุลวาหาบก็ยังคงตั้งใจที่จะให้สัมภาษณ์อย่างใจจดใจจ่อ

ศึกษาและลงมือทำ

เมื่อจะคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์อะไรก็แล้วแต่ สิ่งแรกที่ต้องมีคือข้อมูล แน่นอนว่าดร.อับดุลวาหาบ ต้องศึกษาคุณสมบัติของตัวสารสกัดสับปะรดก่อน เพราะก่อนที่จะนำมาเป็นส่วนผสมได้ จำเป็นต้องรู้ถึงคุณสมบัติของตัวสารสกัดสับปะรดก่อน 

หลังจากนั้นจึงดูวิทย์ทางชีวภาพ อย่างเช่น ดูสารต้านอนุมูลอิสระว่ามีมากน้อยแค่ไหน จากนั้นดูสารที่เป็นสารตัวยับยั้ง เอนไซม์ Tyrosinase นั่นคือไวท์เทนนิ่งนั่นเอง โดยจะดูสองตัวนี้เป็นหลัก และในขั้นตอนกระบวนการผลิต การผสม จะมีสูตรในการผสมว่าอัตราส่วนเท่าไหร่ของแต่ละตัวสารเคมีที่จะผสมลงไป 

พอได้สูตรที่ลงตัวแล้ว จึงผสมเป็นครีม หลังจากนั้นจะทดสอบความคงตัวของเนื้อครีม ในระยะเวลา 1 เดือน ว่ามีคุณสมบัติเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างเช่น สี กลิ่น การแยกชั้นของเนื้อครีม 

นอกจากนี้ขั้นตอนที่เป็นหัวใจสำคัญจริงๆนั่นก็คือ ขั้นตอนการนำไปทดสอบกับผู้ใช้ ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์จะไม่มีผลต่อผู้ใช้งาน เช่น การแพ้หรือรอยผื่นแดงของผู้ใช้เอง รองลงมาก็คือขั้นตอนการผสม ซึ่งขั้นตอนในการผสมตัวเนื้อครีม อัตราส่วนเราต้องพอดี และเป็นไปตามที่อย.กำหนด 

ทีมเวิร์ค

การจะทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ก็ต้องอาศัยทีมในการทำงานเหมือนกัน เหมือนกับทีมวิจัยของดร.อับดุลวาหาบ

“ในทีมของผมจะมีอาจารย์ที่พัฒนาตัวผลิตภัณฑ์นั่นก็จะมี 3 ท่าน ก็คือท่านอาจารย์ดร.สมพงศ์ บุญศรี ท่านอาจารย์ณัฐกร ชีประวัติชัย ท่านก็เป็นอาจารย์เคมีเหมือนกัน แต่อยู่ในหลักสูตรของครุศาสตร์ที่เป็นเอกเคมี แล้วก็ตัวผมเองก็เป็นอาจารย์ในสาขาวิทยาศาสตร์เหมือนกัน หลักสูตรเคมี นอกเหนือจากนั้นแล้ว ในการพัฒนา Packaging ก็จะมีอาจารย์โจ หรือ อาจารย์ชนาธินาถ ไชยภู เป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับตัวเจลแต้มสิว”  

เมื่อมีก้าวแรก ก็ต้องมีก้าวต่อไป

ในปีต่อ ๆ ไปหรือในกระบวนการของการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ นอกจากเจลแต้มสิวแล้วก็จะมีผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ อย่างเช่น สบู่ก้อน สบู่เหลว มาร์กและโลชั่นทาผิว เพราะสับปะรดมีคุณสมบัติที่สามารถนำมาเป็นตัวผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้ นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์เจลแต้มสิว เป็นสูตรที่เพิ่มขึ้นมาจากสูตรเดิม


สร้างการรู้จัก ขยายการเรียนรู้

ผลิตภัณฑ์ส่วนมากจะเน้นไปออกบูธในงานเทศกาลต่าง ๆ ที่ทางจังหวัดจัดให้ ไม่ว่าจะหน่วยงานราชการหรือเอกชนจัดก็ตาม แล้วก็นำผลิตภัณฑ์ตัวนี้ไปเปิดตลาดเพื่อที่จะให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ และยังสามารถมาเรียนรู้ได้ที่วิสาหกิจชุมชนสับปะรดภูเก็ต 


หลังจากการพูดคุยในครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจว่าธรรมชาตินั้นนอกจากจะดูสวยงามแบบไม่ต้องตัดแต่งแล้ว ยังมีความลับและประโยชน์แอบแฝงที่เราไม่รู้อยู่อีกมากมาย ดูตัวอย่างได้จาก ผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสับปะรดนั่นเอง


วิสาหกิจชุมชน

99/1 ม.4 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 

หมายเลขโทรศัพท์ 081-271-4598 

หรือทางร้านของกลุ่มวิสาหกิจ ซึ่งอยู่ที่เยื้องๆกับโตโยต้าเน็กซ์ ถนนเทพกระษัตรี


Exploring the Latest in Our Blog

Related Insights

Check out other insights