“ควบคุมการแพร่โควิด-19 ไม่อยู่ สั่งปิดทั้งเกาะภูเก็ตแล้ว” … “เอาแล้วไง! ปราสาททรายนายก ส่อแววถล่ม”
พาดหัวข่าวใหญ่จากทุกช่องทางกับสถานการณ์ในตอนนี้ แทงใจชาวภูเก็ตทุกคนร่วมมือกันผลักดันโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์” เพื่อต่อลมหายใจให้กับคนในพื้นที่และชาวท่องเที่ยวทั่วไทยในจังหวัดอื่นๆ
ถึงแม้กระแสการเมืองจะกลบความตั้งใจเดิมของทีมงานเบื้องหลัง ทีม Signature of Phuket ขอช่วยอธิบายถึงเป้าหมาย ความตั้งใจ และความสำคัญของมันที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ต่อไปได้ สำหรับชาวภูเก็ตและชาวท่องเที่ยวทุกคน
คำว่า แซนด์บ็อกซ์ (sandbox) หากแปลตรงตัว หมายความว่า กระบะทราย แต่หากแปลในมุมมองของนักพัฒนา คำว่าแซนบ็อกซ์กลับหมายถึง การทดลองระบบในพื้นที่ที่จำกัด โดยจะต้องไม่มีผลกระทบใดๆเมื่อเกิดข้อผิดพลาด
คำว่า Sandbox จึงไม่ใช่ “ปราสาททราย” แต่มันคือกระบะทรายแห่งการทดลอง
ภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะ
เนื่องจากจังหวัดภูเก็ต มีลักษณะเป็นเกาะ ซึ่งจำกัดพื้นที่การเดินทาง ได้แก่ การเดินทางโดยรถผ่านสะพานสารสินมายังด่านตรวจท่าฉัตรไชย หรือการเดินทางอากาศโดยเครื่องบิน และทางเรือมายังท่าเทียบเรือต่างๆ จึงทำให้ง่ายต่อการควบคุมการเข้า-ออก ถ้ามีข้อผิดพลาดอะไรก็สามารถควบคุมได้ทันถ่วงที สรุปสั้นๆ ได้ว่า ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ คือ “การทดลองให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน”
คนส่วนมากได้รับผลกระทบอย่างหนัก
จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับสองของประเทศ และเศรษฐกิจหลักพึ่งพาการท่องเที่ยว ดังนั้นคนภูเก็ตจึงพยามผลักดันและยอมรับความเสี่ยงในเปิดเกาะ “ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์” จึงได้แรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชนและความร่วมมือของภาคประชาชนส่วนมาก อย่างที่เห็นจากจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีน
นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดโครงการจากภูเก็ตแซนบ็อกซ์ไป ยังเกาะอื่นๆ อย่างเช่น โครงการ Samui Plus ที่เกาะสมุย และ Andaman Sandbox ของพังงาและกระบี่
รายได้ที่จะเกิดขึ้นสามารถแบ่งออกได้เป็นรายได้ทางตรงระยะแรก รายได้ทางตรงระยะถัดมา และรายได้ทางอ้อม
ส่วนที่ 1: รายได้ทางตรงระยะแรก
ธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ คือธุรกิจแรกๆ ที่จะได้รับรายได้จากการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพราะมีความพร้อมในการเตรียมตัวให้ผ่านมาตรการสาธารสุขที่เข้มงวด และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาได้นั้น จะต้องจ่ายค่าตรวจเชื้อโควิดสามครั้งด้วยตนเองกว่าหมื่นบาท ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางเข้ามาได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ค่อนข้างสูงเท่านั้น
ส่วนที่ 2: รายได้ทางตรงระยะถัดมา
เมื่อโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้น จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ได้ ในขณะที่โรมแรมและธุรกิจท่องเที่ยวขนาดที่เล็กลงก็ได้มีเวลาเตรียมพร้อมในการรับมือกับมาตรการและกฏระเบียบ ในระยะนี้เองที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงแรมขนาดกลางและเล็กในวงที่กว้างขึ้น
ส่วนที่ 3: รายได้ทางอ้อม
ส่วนสุดท้ายคือ รายได้ทางอ้อมที่เป็นผลพลอยได้จากการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้เกิดการจ้างงานและเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนที่มาจากการจับจ่ายใช้สอยของพนักงานและธุรกิจต่างๆ จึงสามารถกระจายรายได้ไปยังธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น บริการซักอบรีด ที่พักรายเดือนราคาถูก และอุตสาหกรรมอื่นๆ
ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ จะให้คำนิยามนี้ว่า “ตัวทวีคูณ” หมายถึง เมื่อธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น 100 บาท จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตมากกว่า 100 บาท ซึ่งสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว มีการวิจัยว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 2.37 เท่า หรือหมายความว่า ทุกๆ 100 บาทที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นอีก 237 บาท จากทั้งกลุ่มพนักงานและธุรกิจท่องเที่ยว
ความสำเร็จของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นอกจากจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้ จะต้องแก้ปัญหาจากผลกระทบทางด้านสาธารณสุขของการแพร่ระบาดของโควิดควบคู่ไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงเกิดการผลักดันให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) โดยการเร่งฉีดวัคซีนให้มากกว่า 70% ของประชากรในจังหวัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวและลดความเสี่ยงของคนในพื้นที่ โดยจังหวัดภูเก็ตได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก 85% และ เข็มสอง 67% (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 11 ก.ค. 64)
ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว โดยความร่วมมือของคนในพื้นที่มาออกแบบและพัฒนาแผนกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนต่อไปได้ในสถานการณ์แพร่บาดของโควิด ดังนั้น ทุกคนจึงต้องช่วยกันหาทางออกเมื่อเกิดปัญหา ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง และช่วยสื่อสารข้อดีและข้อควรปรับปรุงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้กระบะทรายแห่งการทดลองนี้มีความแข็งแกร่งมากพอ และต่อยอดมันให้กับคนทั้งประเทศต่อไป
สิ่งที่ชาวภูเก็ตต้องการนอกเหนือสิ่งอื่นใดก็คือกำลังใจจากทุกคน
สู้ไปด้วยกัน… เพราะ “Phuket is not a place, it’s a people”
ขอบคุณข้อมูลจาก: รังสิมันต์ กิ่งแก้ว อุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ต, เศรษศาสตร์การท่องเที่ยว ของ ศ. ดร. พิริยะ ผมพิรุฬห์