เดิมทีการเดินทางและทำมาค้าขายของบรรพบุรุษชาวจีนคือการล่องเรือสำเภาซึ่งต้องเดินทางผ่านท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ชาวจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วจึงนิยมสักการะ องค์มาจู่ (ม่าจ้อโป๋-หม่าโจ้ว) ก่อนออกเดินทาง และหลังจากอพยพข้ามโพ้นทะเลก็ยังนิยมบูชาท่านเพราะเชื่อท่านนำทางและช่วยให้ประสบความสำเร็จอีกด้วย
ชื่อแรกคือชื่อที่ให้เกียรติท่าน 天上圣母 (เทียนซ่างเซิ่งหมู่-เทียนส่งเซ่งโบ้-เทียนเสียงเซี้ยบ้อ) หรือ 天后圣母 (เทียนโฮ่วเซิ่งหมู่-เที้ยนเฮาเซ่งโบ้-เทียนโหวเซี้ยบ้อ) ที่หมายถึง ราชินีแห่งสวรรค์และพระแม่เจ้าผู้สูงส่ง
อีกชื่อที่นิยมคือ 妈祖 (มาจู่-ม่าจ่อ-หม่าโจ้ว) ซึ่งคำว่า “妈 ม่า” ก็คือการเรียกย่าหรือยายที่เราคุ้นชิน (อาม่า) และ “祖 จ่อ-โจ้ว” ก็คือการเรียกบรรพชนที่เคารพ รวมกันจึงหมายถึงบรรพชนผู้หญิงที่เคารพรักนั่นเอง ซึ่งในบางครั้งจะเติมคำว่า “婆 ผอ” ที่แปลว่าย่า หรือ “娘 เหนียง” ที่แปลว่าแม่หรือนางต่อท้ายก็กลายเป็น 妈祖婆 (มาจู่ผอ-ม่าจ้อโป๋-หม่าโจ้วพั้ว) และ 妈祖娘 (มาจู่เหนียง-ม่าจ้อเหนีย-หม่าโจวเนี้ย) นั่นเอง
หนึ่งชื่อเรียกที่คนไทยมักเข้าใจผิดคือ “เจ้าแม่ทับทิม” หรือ 水尾聖娘 (จุ้ยบ้วยเนี้ย) เทวีแห่งการเดินเรือของชาวจีนไหหลำ ซึ่งจริง ๆ แล้วถือเป็นเทพคนละองค์ แต่ด้วยความคล้ายคลึงกันทำให้คนไทยเรียก เจ้าแม่มาจู่ (ม่าจ้อโป๋-หม่าโจ้ว) ว่าเป็นเจ้าแม่ทับทิมนั่นเอง
ปัจจุบันแม้การเดินทางจะเปลี่ยนไปแต่องค์มาจู่ (ม่าจ้อโป๋-หม่าโจ้ว) ยังถือเป็นเทพเจ้าที่ช่วยคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้เดินทางและเทพแห่งความมั่นคงและความสำเร็จอีกด้วย หากมีเวลาก็อย่าลืมแวะไปสักการองค์ราชินีแห่งสรรค์กันนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก ศาลเจ้าม่าจ้อโป๋ พังงา, ศาลเจ้าซัมส้านเทียนเฮวกึง-ศาลม่าจ้อโป๋ภูเก็ต, Silpa-Mag, กรุงเทพธุรกิจ