บ่ายของวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร สมาคม ‘Thai Startup’ และกรุงเทพมหานคร ได้มีจัดเวทีนำเสนอ 6+3 ผลงานจากงาน hackathon ภายใต้โครงการ ‘HackBKK’ เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรม ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 25 สิงหาคม 2565 โดย 6 ผลงาน ‘startup track’ มาจากการคัดเลือกทีมสตาร์ทอัพจาก 65 รายมาร่วมค้นหา solution กับตัวแทนจากสำนักงานภายใต้สังกัด กทม. และอีก 3 ผลงาน ‘public track’ มาจากการนำเสนอจากภาคประชาชนที่ได้รับ popular vote จากเฟสบุ๊คของกรุงเทพมหานครที่ผ่านการคัดเลือกจาก 73 ไอเดียที่ส่งเข้ามา
โดย 6 ผลงานจาก ‘startup track’ มีดังนี้
ทีม iTAX เสนอแนวคิด BKKredit สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย เช่น หาบเร่แผงลอย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ภายใต้แนวความคิด “เป็นคนดี ที่หาเงินมาคืนได้” โดยกระบวนการประเมินเครดิตจะดำเนินการ โดยอาศัยเพียงข้อมูลที่มีอยู่แล้วของกรุงเทพมหานคร คือข้อมูลทะเบียนผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ที่ได้รับการรับรองจากตัวแทนผู้ค้า และเจ้าหน้าที่เทศกิจถึง ความประพฤติดีของผู้ค้าแผงลอยที่ขอสินเชื่อ ผนึกกำลังในการประเมินและบริหารความเสี่ยงการให้สินเชื่อด้วยเทคโนโลยีการจัดทำบัญชีธนาคารและจัดการภาษีอัตโนมัติโดย iTAX bnk ซึ่ง Solution นี้จะเป็นทางเลือกสำหรับส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้ผู้ค้ารายย่อยและลดปัญหาหนี้นอกระบบได้
ทีม Vulcan Coalition เสนอแนวคิด Bangkok Care Live Chat Agent ร่วมกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ในสำนักงานเขตต่าง ๆ ภายในพื้นที่ กทม. โดยคนพิการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อให้บริการเป็น Live Chat Agent จะทำหน้าที่สนับสนุนในการตอบคำถาม และรับเรื่องร้องเรียนที่ได้รับผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลาย พร้อมทั้งช่วยจัดประเภทข้อมูลและสถานะเรื่องร้องเรียนให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดย Vulcan Academy จะเป็นผู้สนับสนุนเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในของกทม. ได้ ซึ่งด้วย Solution นี้จะทำให้หน่วยงานของ กทม. จ้างงานบุคคลกลุ่มนีี้ได้มากขึ้น และช่วยให้การให้ข้อมูลกับประชาชนมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นนั่นเอง ภายใต้กรอบเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรมที่คนพิการมีส่วนร่วมได้
ทีม Zipevent เสนอแนวคิด Public Space Platform ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการสร้าง "แพลตฟอร์มรวบรวมพื้นที่สร้างสรรค์กรุงเทพ" ช่วยให้ประชาชนที่ต้องการจัดงานในสถานที่ Public Space ของกรุงเทพมหานคร สามารถจองพื้นที่กว่า 500 สถานที่ได้หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นหอศิลป์, สวนสาธารณะหลัก, สนามกีฬา, ศูนย์เยาวชน, พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ) ด้วยเทคโนโลยีแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Zipevent เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และลดกระบวนการทำงานภายในของเจ้าหน้าที่กทม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการอนุมัติใช้งาน เพื่อเป้าหมายในการสร้างกรุงเทพให้เป็นเมืองแห่งเทศกาลสร้างสรรค์ ที่เกิดจากอีเว้นท์โดยประชาชน เพื่อประชาชน
ทีม กรุงเทพ-เกาเหลาเป็ด-เวชการ เสนอแนวคิด BKK Med for All ภายใต้หลักคิด อยู่กรุงเทพฯ รักษาได้ไม่ต้องใช้เส้น ซึ่งจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดจากระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากในช่วงโควิด-19 ซึ่งมีแค่กลุ่มคนเพียงบางกลุ่มที่สามารถเข้าถึงได้ แต่กลุ่มเปราะบาง หรือ กลุ่มคนที่มีความต้องการจริงๆ กลับไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขได้โดยตรง ดังนั้น Bangkok Medical for All จึงถูกพัฒนาและออกแบบมา เพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถบริหารจัดการการให้บริการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้เงื่อนไขของระเบียบภาครัฐ และผู้ที่อาศัยในกรุงเทพมหานครทุกคนที่ต้องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ ด้วยเทคโนโลยี และแนวคิดการจัดการแบบ citizen-centric และ open innovation ด้วยแนวคิดนี้จะช่วยติดอาวุธให้กับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุช และสามารถเปิดให้มี trusted nodes จากกลุ่มชุมชนที่หลากหลาย เข้ามาช่วยทำหน้าที่คัดกรอง ด้วยกลไกยืดหยุ่นและตอบสนองแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินของกรุงเทพได้หลากหลายระดับ
ทีม Horganice เสนอแนวคิด Housing Stock for First-Jobber ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดทำฐานข้อมูลห้องพักในราคาที่เหมาะสมกับรายได้ของ First-Jobber ที่มีมากกว่า 400,000 คน ด้วยเป้าหมายให้มีที่อยู่อาศัย และมีเงินเก็บภายใน 5 ปีของ การทำงาน ผ่านหลักการทำงาน คือ
1. Rentini ซึ่งใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มของ Horganice เป็นตัวกลางในการ จับคู่หอพัก และ First-Jobber ได้หลากหลายตามความต้องการของแต่ละบุคคล และด้วยโครงสร้างการทำงานของ Rentini จะช่วยลดราคาค่าห้องพักได้ประมาณ 10% ด้วยการนำรายได้ในส่วนของ commission ที่เก็บจากหอพัก มาอุดหนุนในส่วนค่าห้องให้ถูกลง และอัตราคงที่ตลอด 5 ปี 2. จัดตั้งกองทุนอยู่ดีมีออม เพื่อให้ First-Jobber หักเงิน 20% จากฐานเงินเดือนในทุกเดือน และด้วยกลไกการทำงานของกองทุนดังกล่าว เงินเดือนที่หักไว้จะถูกจัดสรรเพื่อจ่ายค่าห้องพัก และเก็บออม โดยบริษัทนายจ้างร่วมสมทบเงินทุนในกองทุนเท่ากับหรือมากกว่ายอดออมสุทธิ 5 ปี โดยแบ่งจ่ายเป็นอัตราขั้นบันไดตลอด 60 เดือน (5 ปี) ด้วยแนวคิดนี้จะมีส่วนช่วยให้ First-Jobber ซึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษาจบใหม่เข้าถึงแหล่งที่อยู่ในราคาที่เข้าถึงได้ และยังมีเงินออมใน 5 ปีอีกด้วย
ทีม บาเนีย (ประเทศไทย) Government Big Data Institute และกรุงเทพมหานคร เสนอแนวคิด Open Data for Better Bangkok เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Big data โดยผนวกฐานข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทั้งสามหน่วยงานมี ในด้านอสังหาริมทรัพย์ และข้อมูลที่กรุงเทพฯ มีอยู่ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานสะท้อนศักยภาพของแต่ละเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ ทั้งในด้านการเดินทาง การเข้าถึงร้านค้าหรือบริการอื่น ๆ สำหรับต่อยอดในการวางแผนการพัฒนาพื้นที่รายเขตให้สอดคล้องกับดัชนีความอยู่สบาย อยู่ปลอดภัยของชุมชน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หรือจัดทำผังเมือง เพื่อลดความแออัดของพื้นที่เมือง รวมถึงการออกแบบพื้นที่เพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับประชาชนทุกวัย และทุกเพศสภาพ
ส่วนอีก 3 ผลงานจาก ‘public track’ ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการส่งไอเดียพัฒนาเมืองและได้รับคะแนนโหวตสูงสุด (Popular vote) ได้แก่
ทีมงาน Dr. ASA ซึ่งเป็นการรวมตัวของบุคลากรทางการแพทย์ เสนอแนวคิด “เราอาสามาเป็นหมอในบ้านคุณ” เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานด้านสาธารสุข ภายใต้สโลแกน “อยู่กับหมอก่อนที่จะป่วย ดีกว่าป่วยแล้วค่อยไปหาหมอ” โดยทีมงานได้พัฒนาแอปพลิเคชันทางการแพทย์ ที่จะมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำและทําให้ทุกคนเข้าถึงสุขภาพได้ด้วยปลายนิ้ว ผ่านกลไก 3C คือ
ซึ่งจะช่วยลดภาระการทํางานของหมอและการมาโรงพยาบาลโดยไม่จําเป็น ซึ่งด้วยแนวคิดนี้จะช่วยให้การบริการสาธารณสุขเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน ด้วย Slogan: Dr. Asa, Doctor for People
ทีมงาน ViaBus นำเสนอแนวคิด “ViaBus แอปขนส่งโดยสารเรียลไทม์” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันฟรี บนสมาร์ทโฟน ซึ่งทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางในการนำเสนอข้อมูลระหว่างผู้โดยสาร และผู้ประกอบการรถสาธารณะ สำหรับให้ผู้โดยสารติดตามและวางแผนการเดินทาง ซึ่งในปัจจุบันเปิดให้ใช้บริการแล้วจริงสำหรับการดำเนินการผ่านรถโดยสาร ผ่านกลไกการติดตามรถได้แบบ Real-time (ด้วยระบบ GPS) การเรียกดูข้อมูลสายป้ายด้วยรถเมล์ ค้นหาวิธีเดินทาง แจ้งเหตุแนะนำติชม โดยมีแผนจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมการขนส่งโดยสารในรูปแบบอื่นเพิ่มเติมให้ครอบคลุมการเดินทางทั้งรูปแบบ รถ ราง เรือ เพื่อให้ผู้โดยสารในกรุงเทพฯที่มีอยู่เกือบ 3 ล้านคนสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น สามารถตัดสินใจในการเดินทาง รวมถึงบริหารเวลาและวางแผนการการเดินทางได้ดีขึ้น ไม่ต้องรอคอยอย่างไร้ความหวังอีกต่อไป
ทีมงาน หวังเมืองดี นำเสนอแนวคิด “เขตประชุมชน” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้สภาประชาคมเขตมีความเป็นดิจิตอล เข้าถึงคนได้ง่ายและมากที่สุด เพื่อเป็นการโอบรับผู้คนในเขตต่างๆ ของ กทม. โดยมีกลไกหลักเชื่อมโยงชาวกรุงเทพฯ ที่เป็นตัวแทนประชาชนผู้อาศัยในย่านนั้น กลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ ให้สามารถเสนอวาระในสภาประชาคมขึ้น และแบ่งปันเพื่อรับการสนับสนุนจากบุคคลทั่วไป หรือกลุ่มชุมชนต่างๆ ในเขตเพื่อเสนอเรื่องไปยังผู้บริหารเขต และยังสามารถตรวจสอบติดตามความคืบหน้าของวาระต่างๆ ได้อย่างโปร่งใส ในขณะเดียวกันด้วยแพลตฟอร์มนี้ ผู้อำนวยการเขตก็จะได้รับทราบวาระที่เกิดขึ้น พิจารณารับเรื่อง รายงานหรือติดตามความคืบหน้าของวาระต่างๆ ได้ ด้วยแนวความคิดนี้จะช่วยสร้างกลไกการสื่อสารระหว่าง คนกทม. และผู้บริหารเขต เพื่อสร้างโมเดลการออกแบบนโยบายภายใต้กรอบ People-centred design approaches และเพื่อให้ผู้อำนวยเขตปฏิบัติต่อประชาชนแบบ “หันหลังให้ผู้ว่า และหันหน้าให้ประชาชน”อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยในงานนี้ได้รับเกียรติจากคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (แถวที่ 3 คนที่ 4 จากทางซ้าย), ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต (แถวที่ 3 คนที่ 5 จากทางซ้าย), ดร. ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (แถวที่ 3 คนที่ 2 จากทางซ้าย) และ นายธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน อุปนายกสมาคม Thai Startup (แถวที่ 3 คนที่ 1 จากทางซ้าย) ในการรับฟังการเสนอไอเดียเพื่อนำไปต่อยอดและปรับใช้กับกรุงเทพมหานครต่อไป